เกี่ยวกับสมาคม
ข้อบังคับสมาคม
ข้อบังคับ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย
หมวดที่ 1 : ข้อความทั่วไป
ข้อ 1. ชื่อสมาคม
สมาคมนี้มีชื่อว่า "สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย" เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Thai Listed Companies Association”
อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ชั้น 6 เลขที่ 93 ถนนรัชดาภิเษก
แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์ : 0-2009-9191
โทรสาร : 0-2247-7449
อีเมล : thai_listed_companies_association@lca.or.th
เว็บไซต์ : www.thailca.com
ข้อ 2. เครื่องหมายของสมาคม
- เครื่องหมายของสมาคม มีลักษณะเป็นวงกลมซ้อนกัน 2 วง เป็นวงแหวน มีตัวอักษรภาษาไทยว่า สมาคมบริษัทจดทะเบียน และตัวอักษรภาษาอังกฤษว่า Thai Listed Companies Association อยู่ภายใน และมีรูปเครื่องหมายของ ตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทยอยู่ตรงกลางวงแหวน
ข้อ 3. สำนักงานของสมาคม สำนักงานของสมาคม ตั้งอยู่ที่
อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ชั้น 6 เลขที่ 93 ถนนรัชดาภิเษก
แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์ : 0-2009-9191
โทรสาร : 0-2247-7449
อีเมล : thai_listed_companies_association@lca.or.th
เว็บไซต์ : www.thailca.com
ข้อ 4. วัตถุประสงค์ของสมาคม
- เพื่อส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจในทางพาณิชยกรรม หรือการเงิน หรืออุตสาหกรรมของสมาชิก
- เพื่อประสานงานระหว่างสมาชิก ให้ความร่วมมือและประสานงานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการอันเป็นประโยชน์แก่สมาชิก ตลอดจนผู้ถือหลักทรัพย์ของสมาชิก
- เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่สมาชิกจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือระเบียบข้อบังคับที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด ตลอดจนเสนอแนะข้อคิดเห็นต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในการที่จะปรับปรุงระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิก และการพัฒนาตลาดทุนของประเทศ
- เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการปฏิบัติงานของสมาชิก
- เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนและการพัฒนาตลาดทุนของประเทศ
- เพื่อส่งเสริมการบริหารงานของสมาชิกให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
- ไม่ดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง
หมวดที่ 2 : สมาชิกและสมาชิกภาพ
ข้อ 5. สมาชิก
สมาชิกต้องเป็นบริษัทจดทะเบียน หรือหลักทรัพย์อื่น ซึ่งได้มีหลักทรัพย์จดทะเบียนไว้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ หรือตลาดรองอื่นซึ่งอาจมีขึ้นในอนาคต
ข้อ 6. การสมัครเข้าเป็นสมาชิก ผู้สมัครจะต้องยื่นใบสมัครต่อเลขาธิการของสมาคม ตามแบบที่สมาคมกำหนด
ข้อ 7. การพิจารณารับเข้าเป็นสมาชิก บริษัทที่มีคุณสมบัติตามข้อบังคับ ข้อ 5 สามารถยื่นใบสมัครต่อเลขาธิการสมาคม เพื่อเสนอคณะกรรมการสมาคมพิจารณา
ข้อ 8. วันเริ่มสมาชิกภาพ สมาชิกภาพเริ่มตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระค่าลงทะเบียนและค่าบำรุง ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเรื่องค่าลงทะเบียนและค่าบำรุง
ข้อ 9. การใช้สิทธิของสมาชิก
- ได้รับความช่วยเหลือและการสงเคราะห์ในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการอันอยู่ในวัตถุประสงค์ของสมาคม จากสมาคมเท่าที่จะอำนวยได้
- เสนอผู้แทนเข้าเป็นกรรมการสมาคม เพื่อร่วมบริหารกิจการสมาคม
- เสนอความคิดเห็นหรือให้คำแนะนำต่อสมาคมหรือคณะกรรมการ ในเรื่องใดๆ อันอยู่ในวัตถุประสงค์ของสมาคม เพื่อนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของสมาคม
- ขอตรวจสอบกิจการและทรัพย์สินของสมาคมได้ โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อเลขาธิการหรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขาธิการ สมาชิกแต่ละรายมีสิทธิแต่งตั้งผู้แทนได้ไม่เกิน 3 คน โดยแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อเลขาธิการสมาคม ในการประชุมสมาชิก ผู้แทนดังกล่าวมีสิทธิเข้าประชุมได้ทุกคน แต่มีสิทธิออกเสียงได้เพียงสมาชิกละ 1 เสียงเท่านั้น
ข้อ 10. หน้าที่ของสมาชิก สมาชิกต้องปฏิบัติตามข้อบังคับและระเบียบของสมาคมโดยเคร่งครัด
ข้อ 11. การขาดจากสมาชิกภาพ สมาชิกย่อมขาดจากสมาชิกภาพเมื่อเกิดกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้
- หลักทรัพย์ของสมาชิกหรือหลักทรัพย์ที่สมาชิกเป็นผู้จัดการถูกเพิกถอน หรือพ้นจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน หรือหลักทรัพย์รับอนุญาตในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ หรือตลาดรองอื่นซึ่งอาจมีขึ้นในอนาคต
- ที่ประชุมสมาชิกมีมติให้ถอนชื่อจากทะเบียนสมาชิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม
- สมาชิกแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรขอลาออกจากสมาคม
- สมาชิกขาดส่งค่าบำรุง
หมวดที่ 3 : ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุง
ข้อ 12. ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุง
สมาชิกต้องชำระค่าลงทะเบียนเป็นสมาชิกจำนวน 2,000 บาท (สองพันบาทถ้วน) และค่าบำรุงรายปีอีกตามจำนวนที่คณะกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบของที่ประชุมสมาชิก สมาชิกจะต้องชำระค่าบำรุงรายปีของปีถัดจากปีแรกที่เป็นสมาชิกภายในเดือนมกราคมของทุกปี
หมวดที่ 4 : การบริหารสมาคม
ข้อ 13. คณะกรรมการ
- ให้มีคณะกรรมการจำนวนไม่น้อยกว่า 7 คน และไม่เกิน 30 คน เป็นผู้บริหารสมาคม
- ให้ที่ประชุมใหญ่สมาชิกเลือกตั้งคณะกรรมการจากผู้แทนของสมาชิก ตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อ 9
- การเลือกตั้งคณะกรรมการจะกระทำโดยวิธีเปิดเผยหรือวิธีอื่นก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่ที่ประชุมใหญ่จะกำหนด
- ให้ผู้อำนวยการสมาคมเป็นเลขาธิการและกรรมการโดยตำแหน่ง
- ให้คณะกรรมการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี โดยต่อเนื่องได้ไม่เกิน 9 ปี ความในวรรคแรกมิให้ใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสมาคม
- ผู้แทนของสมาชิกที่มาจากสาขาอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมประเภทเดียวกัน หรือจากกลุ่มบริษัทในเครือเดียวกัน จะดำรงตำแหน่งกรรมการ เกินอัตราหนึ่งในหกของจำนวนคณะกรรมการไม่ได้
หากมีปัญหาเรื่องสมาชิกมาจากสาขาอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมประเภทเดียวกัน หรือกลุ่มบริษัทในเครือเดียวกัน ให้ที่ประชุมใหญ่สมาชิกเป็นผู้พิจารณาชี้ขาด
ข้อ 14. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
- บริหารกิจการของสมาคมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
- แต่งตั้งกรรมการให้ดำรงตำแหน่งนายก อุปนายก เหรัญญิก นายทะเบียน เลขาธิการ และตำแหน่งอื่นตามที่เห็นสมควร
- แต่งตั้งและถอดถอนผู้อำนวยการสมาคม
- แต่งตั้งอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือที่ปรึกษาคณะกรรมการ จากผู้แทนของสมาชิก เพื่อพิจารณาเรื่องต่างๆ ที่อยู่ในขอบเขตวัตถุประสงค์ของสมาคม โดยให้อยู่ภายใต้การกำกับและดูแลของคณะกรรมการ
- เป็นตัวแทนสมาคมในการให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมาย กฎระเบียบ และประกาศต่างๆ ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ขอรับคำปรึกษา
- รักษาผลประโยชน์ของสมาคม
ข้อ 15. การประชุมคณะกรรมการ
- ให้มีการประชุมคณะกรรมการตามที่นายกสมาคมจะเห็นสมควร แต่อย่างน้อยจะต้องมีการประชุมกันทุก 3 เดือน
- ในการประชุมคณะกรรมการทุกครั้ง จะต้องมีกรรมการมาร่วมประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการ จึงจะครบเป็นองค์ประชุม
- ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกสมาคมไม่สามารถมาประชุม ให้อุปนายกทำหน้าที่แทน ในกรณีที่ทั้งนายกสมาคมและอุปนายกไม่สามารถมาร่วมประชุมได้ ให้เลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่แทน
- ให้ถือเสียงข้างมากของจำนวนกรรมการที่มาประชุมเป็นมติของที่ประชุมคณะกรรมการ ในกรณีที่เสียงเท่ากัน ให้ประธานที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ 16. อำนาจหน้าที่ของนายกสมาคมและกรรมการ อำนาจหน้าที่ของนายกสมาคมและกรรมการมีดังนี้
- ให้นายกสมาคมมีหน้าที่บริหารกิจการของสมาคมให้เป็นไปตามข้อบังคับ และระเบียบของสมาคม เป็นผู้แทนของสมาคมในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก และเป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการและในที่ประชุมใหญ่สมาชิก
- ให้อุปนายกมีหน้าที่ช่วยเหลือนายกสมาคมในกิจการทั้งปวงอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสมาคม เป็นผู้ปฏิบัติการแทนนายกสมาคม ในขณะที่นายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือตามที่นายกสมาคมหรือคณะกรรมการจะมอบหมาย
- ให้เหรัญญิกมีหน้าที่รักษาเงินและสินทรัพย์ของสมาคม ทำบัญชีการเงิน ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่นายกสมาคมหรือคณะกรรมการจะมอบหมาย
- ให้นายทะเบียนมีหน้าที่จัดทำทะเบียนรายชื่อสมาชิก และปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่นายกสมาคมหรือคณะกรรมการจะมอบหมาย
- ให้เลขาธิการมีหน้าที่บริหารงานเอกสารของสมาคม เป็นเลขานุการในที่ประชุมคณะกรรมการและที่ประชุมใหญ่ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่นายกสมาคมหรือคณะกรรมการจะมอบหมาย
ข้อ 17 การพ้นจากตำแหน่งกรรมการ กรรมการพ้นจากตำแหน่งในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้
- ถึงแก่กรรม
- ถึงคราวออกตามวาระ
- ลาออก
- ออกจากสมาชิกหรือพ้นสภาพการเป็นผู้แทนของสมาชิก
- สมาชิกขาดจากสมาชิกภาพ
- ที่ประชุมสมาชิกมีมติให้ถอดถอนด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม
- คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ประกาศว่าไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ได้
ข้อ 18. ตำแหน่งกรรมการว่างลงก่อนครบวาระ เมื่อมีกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งผู้แทนของสมาชิกตามที่กำหนดในข้อ 9 เพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการแทน และให้บุคคลซึ่งเข้าเป็นกรรมการแทนนั้นดำรงตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่ยังเหลืออยู่ของกรรมการที่ตนเข้ามาแทนเท่านั้น แต่ถ้าวาระของกรรมการผู้นั้นเหลือน้อยกว่า 180 วัน จะไม่เลือกกรรมการแทนก็ได้
หมวดที่ 5 : การประชุมสมาชิก
ข้อ 19. การประชุมสมาชิก
ให้คณะกรรมการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี ปีละครั้ง ภายในกำหนด 120 วัน นับแต่วันที่สิ้นปีบัญชีของสมาคมการประชุมสมาชิกคราวอื่น ให้เรียกว่าประชุมวิสามัญ ซึ่งคณะกรรมการหรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดจะร้องขอให้คณะกรรมการจัดประชุมขึ้น ซึ่งคณะกรรมการจะต้องเรียกประชุมวิสามัญภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ
การประชุมสมาชิก ต้องมีสมาชิกหรือผู้รับมอบฉันทะของสมาชิกมาประชุม ไม่น้อยกว่าห้าสิบบริษัท หรือหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด แล้วแต่จำนวนใดจะน้อยกว่า จึงจะครบเป็นองค์ประชุม หากเวลาผ่านพ้นไป 1 ชั่วโมงแล้ว สมาชิกยังมาไม่ครบเป็นองค์ประชุม ก็ให้คณะกรรมการเรียกประชุมใหม่ภายใน 15 วัน การประชุมครั้งหลังนี้ แม้สมาชิกจะมาไม่ครบเป็นองค์ประชุม ก็ให้ดำเนินการประชุมได้
ในกรณีที่สมาชิกร้องขอให้คณะกรรมการจัดประชุมสมาชิก หากสมาชิกมาไม่ครบเป็นองค์ประชุม ก็ให้ยกเลิกการประชุมนั้นเสีย
ข้อ 20. การบอกกล่าวประชุมสมาชิก การบอกกล่าวประชุมสมาชิกในกรณีปกติ ให้แจ้งล่วงหน้าก่อนการประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน พร้อมทั้งแจ้งให้ทราบด้วยว่าจะเรียกประชุมเพื่อการใด
ข้อ 21. ประธานในที่ประชุมสมาชิก ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุมสมาชิก ถ้านายกสมาคมไม่สามารถมาประชุม ให้อุปนายกทำหน้าที่แทน ในกรณีที่ทั้งนายกสมาคมและอุปนายกไม่สามารถมาร่วมประชุมได้ ให้สมาชิกเลือกกรรมการคนหนึ่งเพื่อทำหน้าที่แทน
ข้อ 22. การลงคะแนนเสียงในการประชุมสมาชิก ให้ที่ประชุมถือคะแนนเสียงข้างมากในที่ประชุมเป็นเกณฑ์ ยกเว้นกรณีที่กำหนดไว้ใน ข้อบังคับเป็นอย่างอื่น ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
หมวดที่ 6 : ผู้สอบบัญชี
ข้อ 23. ผู้สอบบัญชี
- ให้ที่ประชุมสมาชิกสามัญแต่งตั้งผู้สอบบัญชีและกำหนดค่าสอบบัญชีประจำปี
- ผู้สอบบัญชีจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีได้รับอนุญาตและมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม
- วันสิ้นปีทางบัญชี ให้ถือเอาวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสิ้นปีทางบัญชีของสมาคม
หมวดที่ 7 : การเลิกสมาคม
ข้อ 24. การเลิกสมาคม
สมาคมจะเลิกกิจการเมื่อเกิดกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้
- ที่ประชุมสมาชิกมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม
- จำนวนสมาชิกลดลงเหลือต่ำกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีชื่ออยู่ในทะเบียน ณ วันสิ้นปีของปีที่ผ่านมา
ข้อ 25. สินทรัพย์ของสมาคม เมื่อสมาคมต้องเลิกกิจการไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ให้บริจาคทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แก่องค์การการกุศลที่คณะกรรมการเห็นสมควร
หมวดที่ 8 : การแก้ไขข้อบังคับ
ข้อ 26. การแก้ไขข้อบังคับ
การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของสมาคมจะกระทำได้แต่โดยมติของที่ประชุมใหญ่ ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม การนัดหมายประชุมในเรื่องดังกล่าว คณะกรรมการจะต้องแจ้งล่วงหน้าให้สมาชิกทราบถึงวันประชุม วาระ รายละเอียดและเหตุผลของการแก้ไข ไม่น้อยกว่า 10 วันก่อนการประชุม